วีรบุรุษตัวจริง ใน...ใต้ปีกปักษา

ก่อนละครจะออนแอร์ ก็อยากเล่าเรื่องราวเบื้องหลังนิยายเรื่องนี้ให้คนอ่านฟัง คนเขียนคิดว่าเคยพูดถึงเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ไม่เคยเขียนเล่าเป็นเรื่องราวแบบนี้




ย้อนหลังไปเมื่อได้รับการติดต่อจาก บก. ถามไถ่ว่าสนใจจะร่วมเขียนซีรี่ส์เซ็ตนี้หรือไม่ และได้ตกลงตอบรับในที่สุดนั้น บก. ยื่นอาชีพมาให้เลือก หนึ่งในนั้นคือ อาชีพนักบินพาณิชย์ ที่เลือกไปนั้นไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษเลยสักนิด เลือกเพราะไม่รู้ว่าจะเลือกอะไร

เลือกมาแล้วก็มานั่งคิดว่าจะเขียนเล่าเรื่องอะไรดี พลอตเรื่องจะเป็นอย่างไร กระทั่งวันหนึ่งคุยกับพี่ณารา และพี่ณาราก็เอ่ยถึงเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยที่เคยอ่านเจอ เป็นเรื่องราวของนายทหารอากาศคนหนึ่งที่ขึ้นบินเพื่อปกป้องมาตุภูมิตนเองด้วยความกล้าหาญ จนกระทั่งเครื่องบินถูกยิงตก และตัวท่านก็เสียชีวิตในที่สุด เรื่องราวดังกล่าวนี้ทำให้เกิดแรงบันดาลในการคิดพลอตและเขียนนิยายเรื่อง "ใต้ปีกปักษา" ค่ะ

ผู้เขียนหาข้อมูลจนเจอ และนำมาใส่ในนิยายโดยดัดแปลงต่อเติมบางส่วนเพื่ออรรถรสในการอ่าน แต่ข้อมูลหลักๆ ทางประวัติศาสตร์ที่ที่มีเชิงอรรถอธิบายไว้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงตามประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็คือ การกล่าวถึงเรื่องราวช่วงสงครามอินโดจีน 

ที่สำคัญตัวละครหนึ่งในนิยายนั้นก็มีตัวตนจริงอยู่ในประวัติศาสตร์ แต่เนื่องจากผู้เขียนเกรงว่าจะไปกระทบกับลูกหลานและเครือญาติของท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงได้เปลี่ยนชื่อ-นามสกุล และหยิบยกมาแต่วีรกรรมที่ท่านได้ทำไว้เพียงอย่างเดียว

ตัวละครที่กำลังพูดถึงคือ ปู่อัศนี ซึ่งในเรื่องเป็นวิญญาณที่มาขอให้นางเอกช่วยตามหาภรรยาและลูกนั่นเอง

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ด้วยความเป็นนิยาย จึงมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเรื่องราว และแค่หยิบประเด็นเหตุการณ์วีรกรรมครั้งนั้นมากล่าวถึงเท่านั้น ซึ่งก็คือการนำเครื่องบินขึ้นบินต่อสู้กับฝรั่งเศสค่ะ 

บุคคลจริงในประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนหยิบยกวีรกรรมการทำความดีของท่านมากล่าวถึง มีชื่อว่า นาวาอากาศตรี ศานิต นวลมณี (ภายหลังได้รับการเลื่อนยศเป็น นาวาโท ศานิต นวลมณี) 

นาวาอากาศตรี ศานิต นวลมณี


และข้อมูลดังต่อไปนี้ ผู้เขียนขอคัดลอกจาก เพจ สงครามประวัติศาสตร์ ซึ่งคัดลอกจากเวบ iseehistory อีกทอดหนึ่งค่ะ

-------------------------------------------------

วีรกรรม "นาวาอากาศตรี ศานิต นวลมณี"


" กองบินน้อยที่ ๒ (กองบิน ๒ ในปัจจุบัน) ในสมัยนั้นมี ฝูง ๑ , ฝูง ๒ และ ฝูง ๓ โดยเฉพาะฝูง ๓ ตามอัตราสนามเป็นฝูงบินที่ ๒๓ ได้จัดกำลังส่วนหนึ่งเข้าไปประจำกองบินน้อยผสมที่ ๘๐ ณ สนามบินจังหวัดอุดรธานี มีเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด แบบ บจ.๑ คอร์แซร์ ปฏิบัติหน้าที่จนกระทั่งได้สร้างวีรกรรมในการปฏิบัติการรบดีเด่น " . . .

"การปฏิบัติการทางอากาศโจมตีกรุงเวียงจันทน์" ในคราวเกิดกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส ร.ท.ศานิต นวลมณี ได้รับคำสั่งให้นำเครื่องบินแบบ ๒๓ คอร์แซร์ ไปทิ้งระเบิดที่หมายทางทหารบริเวณริมฝั่งโขง บริเวณกรุงเวียงจันทน์ โดยมี ร.ต.ผัน สุวรรณรักษ์ ผู้บังคับหมู่บินฮอว์ค ๗๕ ที่มาประจำที่สนามบินอุดรธานี บินคุ้มกันให้

ร.ท.ศานิต นวลมณี นำเครื่องเข้าทิ้งระเบิดในระยะต่ำเพียง ๒๐๐ เมตร ข้าศึกก็ได้ยิงต่อสู้อย่างหนาแน่น ผลการปฏิบัติ สามารถทิ้งระเบิดถูกที่หมายไฟไหม้ ฝ่ายเรากลับถึงสนามบินอุดรฯได้อย่างปลอดภัย เมื่อสำรวจดูปรากฏว่า เครื่องของ ร.ท.ศานิต นวลมณี ถูกกระสุนปืนกล ประมาณ ๒๐ แห่ง จนปลายปีกซ้ายขาดกระจุย


๙ ธันวาคม ๒๔๘๔
เวลา ๐๕.๐๐ น. เครื่องบินฝรั่งเศส ๔ เครื่อง มาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนมอีก ๑๐ ลูก มี ๒ ลูก ตกห่างศาลากลางจังหวัดเพียงห้าสิบเมตร นอกนั้นตกในพื้นที่ว่างใกล้เคียง และในขณะเดียวกันข้าศึกฝั่งท่าแขก ซึ่งตรงข้ามตัวเมืองนครพนม ได้ใช้ปืนยิงเข้ามาในตัวเมืองนครพนมด้วย

เวลา ๐๖.๒๐ น. เครื่องบินฝรั่งเศส ๓ เครื่อง ได้บินเข้ามาที่นครพนมอีกครั้ง ฝ่ายเราส่งเครื่องบินตรวจการณ์คอร์แซร์ จำนวน ๒ เครื่อง และได้ขึ้นต่อสู้ทางอากาศนาน ๒๐ นาที เครื่องบินฝ่ายข้าศึกบินหนีข้ามแม่น้ำโขง และตกบริเวณหลังท่าแขก ๑ เครื่อง ส่วนฝ่ายเราเครื่องของ ร.ต.ทองใบ พันธุ์สบาย ถูกยิงถูกยิง ๑๑ นัด ร.ต.ทองใบ ถูกยิงที่เท้า แต่นักบินและพลปืนหลังปลอดภัย และสามารถนำเครื่องบินกลับมาได้

เวลา ๐๗.๓๕ น. ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาที่จังหวัดนครพนมอีก ๒ เครื่อง คราวนี้ฝ่ายไทยส่งเครื่องบินแบบ ๑๗ มี จ.อ.รังสรรค์ อ่อนรักษา เป็นผู้นำหมู่บินขึ้นต่อสู้ ปรากฏว่าฝ่ายฝรั่งเศสต้องบินหนีไปอีก แต่ฝ่ายเราเครื่องของ จ.อ.รังสรรค์ ก็ถูกยิงสิบกว่าแห่ง และตนเองถูกยิงที่เท้า แต่สามารถนำเครื่องกลับมาได้อย่างปลอดภัย

ต่อมาเพื่อเป็นการตอบแทนแก่ฝรั่งเศส ฝ่ายเราจึงได้จัดเครื่องบินไปเยี่ยมเยียนฝ่ายฝรั่งเศสบ้าง สามารถโจมตีที่ตั้งยิงปืนใหญ่ของฝรั่งเศสที่สะหวันเขต ทิ้งระเบิดทำลายสนามบินและเครื่องบินที่สนามบินบ้านธาติ ทางทิศตะวนออกของสะหวันเขตประมาณ ๒๐ กิโลเมตร และได้ไปโจมตีที่ตั้งทหารที่บ้านนาแพะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของท่าแขก ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร


๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๓
เวลา ๐๕.๐๐ น. เครื่องบินฝรั่งเศส ๑ เครื่อง ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดอุดรธานี เป็นเหตุให้ราษฎรเสียชีวิต ๒ คน บาดเจ็บสาหัส ๑ คน และบาดเจ็บเล็กน้อยอีก ๕ คน เพื่อเป็นการตอบโต้ และตอบแทนความโหดร้ายทารุณอย่างไม่สิ้นสุดของฝรั่งเศส ทหารบกได้ใช้ปืนใหญ่ ปืนเล็กและปืนกลยิงไปยังท่าแขก รวมทั้งกองทัพอากาศก็ได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดครั้งใหญ่หลายแห่ง

เวลา ๐๗.๕๐ น. กองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินฝูงใหญ่ไปทำการโจมตีทิ้งระเบิดที่ตั้งทางทหารที่นครเวียงจันทน์อย่างหนัก ในการปฏิบัติการครั้งนี้ เครื่องบินคอร์แซร์ซึ่งมี ร.อ.ศานิต นวลมณี เป็นนักบิน และ จ.อ.เฉลิม ดำสัมฤทธิ์ ทำหน้าที่พลปืนหลัง ได้ทำการโจมตีกองกำลังฝ่ายข้าศึกในระยะเพดานบินต่ำ ฝ่ายข้าศึกซึ่งตั้งปืนกลต่อสู้อากาศยานอยู่บนถังน้ำประปาริมแม่น้ำโขง ได้พากันทำการยิงต่อสู้อย่างหนาแน่น จนกระสุนถูก จ.อ.เฉลิม ดำสัมฤทธิ์ พลปืนหลังเสียชีวิต และเครื่องบินถูกยิงจนถังน้ำมันที่ปีกทะลุจนไฟลุกไหม้ ตัวนักบินเองก็ถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า และได้พยายามประคองเครื่องบินกลับมายังฝั่งไทย หลังจากนั้นก็กระโดดร่มลง โดยทั้งเครื่องบินและนักบินตกลงที่หนองน้ำบ้านพรานพร้าว อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เป็นเหตุให้ ร.อ. ศานิต นวลมณี บาดเจ็บสาหัส ต้องส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารในกรุงเทพฯ ทันที ซึ่งท่านเป็นนักบินที่สู้รบอย่างกล้าหาญ - เด็ดเดี่ยว จนบาดเจ็บสาหัส ภายหลังได้เลื่อนยศเป็น น.ต.


๑๑ ธันวาคม ๒๔๘๓
เวลา ๐๑.๐๐ น. เครื่องบินฝรั่งเศสได้เข้ามาถึงจังหวัดหนองคาย แต่ถูกเครื่องบินฝ่ายเราขึ้นบินขับไล่กลับไปได้

เวลา ๐๕.๔๕ น. เครื่องบินฝรั่งเศส ๑ เครื่อง ได้เข้ามาทิ้งระเบิดที่มุกดาหาร ๑๔ ลูก

เวลา ๐๙.๐๐ น. ฝ่ายฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่ ปตอ. และปืนกล ยิงเข้ามาที่บ้านศรีเชียงใหม่ ฝ่ายเราจึงส่งเครื่องคอร์แซร์ จำนวน ๓ เครื่อง ไปทำลายที่ตั้งอาวุธของข้าศึก ซึ่งสามารถโจมตีได้อย่างแม่นยำตรงตามเป้าหมาย คาดว่าทำลายเป้าหมายได้เพราะ ปตอ.นั้นหยุดยิง และเครื่องบินฝ่ายเราไปทิ้งระเบิดสนามบินข้าศึกอีกด้วย

๑๒ ธันวาคม ๒๔๘๓
เวลา ๐๑.๐๐ น. เครื่องบินฝรั่งเศสบินล้ำเข้ามาอีก ๑ เครื่อง ทางด้านจังหวัดนครพนม ร.ต.จวน สุขเสริม ซึ่งเป็นนักบิน เตรียมพร้อมนำเครื่องขึ้นสู้รบ และได้ทำการสู้รบอย่างกล้าหหาญ จนถูกข้าศึกยิงตกที่บริเวณบ้านตาด ส่งผลให้ ร.ต.จวน สุขเสริม เสียชีวิต

เวลา ๐๕.๐๐ น. เครื่องบินฝรั่งเศส ๑ เครื่อง ได้เข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดสกลนคร และเวลา ๐๕.๔๐ น. ก็เข้ามาทิ้งระเบิดเพลิงอีก ๙ ลูก แต่ไม่เกิดอันตราย เพราะลูกระเบิดเก่ามาก


๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๓
เคลื่อนที่เข้าพื้นที่การรบด้านอรัญประเทศ ร.พัน ๔ อยู่ที่ อ.วัฒนานคร ร.พัน ๘ อยู่ที่ อ.สระแก้ว ร.พัน ๖ รักษาบ้านโคกสูงและบ้านโนนหมากมุ่น

ในที่สุด ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๓
น.ต.ศานิต นวลมณี ซึ่งบาดเจ็บสาหัสจากการรบ และรักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารในกรุงเทพฯ ก็ได้ถึงแก่กรรมลง



รายงานการปฏิบัติการรบ ของ น.ต.ศานิต นวลมณี

๑. 
 เมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ เวลา ๐๘๐๐ เครื่องบินขับไล่ฝรั่งเศส ๕ เครื่อง เครื่องบินตรวจการณ์ ๑ เครื่อง ได้เข้ามา โจมตีจังหวัด ครพนม

น.ต.ศานิต นวลมณี ได้ทำการรบขัดขวางกับเครื่องบินข้าศึก ซึ่งมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า ทั้งมีความเร็วสูงกว่าด้วย จนกระทั่ง ว่าที่ ร.ต.ทองใบ พันธุ์สบาย ได้เข้าช่วยรบข้าศึกจึงได้หนีไป

การที่ น.ต.ศานิต นวลมณี ปฏิบัติการไปนี้ ได้แสดงความองอาจกล้าหาญอย่างยอดยิ่ง เอาชีวิตเข้าแลก เพื่อให้ลุผลสำเร็จตามหน้าที่ แม้ตนทราบดีแล้วว่า ข้าศึกมีกำลังมากกว่าและความเร็วมากกว่าก็ตาม หามีความย่อท้อต่ออันตรายไม่ นับว่า น.ต.ศานิต นวลมณี ได้ปฏิบัติหน้าที่สมควรเป็นผู้ป้องกันประเทศชาติ

๒.
น.ต.ศานิต นวลมณี ได้รับคำสั่งให้ไปโจมตีสนามบินเวียงจันทน์ เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๓ เวลา ๐๖๐๐ บินออกจากสนามบินอุดรธานี ไปยังที่หมาย และทำการโจมตีตามคำสั่ง ในขณะลงทำการโจมตีนั้น ปืนกลข้าศึกได้ทำการยิงมาอย่างรุนแรง แต่ น.ต.ศานิต นวลมณี ก็หาได้ย่อท้อต่ออันตรายแต่อย่างใดไม่ ได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ด้วยความองอาจจนเป็นผลสำเร็จ และนำเครื่องบินกลับสู่สนามบินโดยสวัสดิภาพ แต่กระสุนปืนถูกเครื่องบินประมาณ ๒๐ แห่ง นับว่า น.ต.ศานิต นวลมณี ได้ฝ่าอันตรายด้วยความกล้าหาญ โดยไม่คิดแก่ชีวิต มุ่งแต่จะปฏิบัติกิจในหน้าที่ให้ลุผลสำเร็จเท่านั้น สมควรได้รับการยกย่อง

๓. 
ได้รับคำสั่งให้ไปโจมตีสนามบินเวียงจันทน์ เมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๓ เวลา ๐๗๕๐ ได้ออกจากสนามบินอุดรธานี ไปปฏิบัติการตามคำสั่ง ขณะที่เข้าโจมตีถูกปืนกลจากพื้นดินทำการยิงต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ น.ต.ศานิต นวลมณี ก็มิได้ย่อท้อต่ออันตรายอันจะพึงมีแก่ตน ได้พยายามปฏิบัติหน้าที่ด้วยความองอาจกล้าหาญ จนบรรลุผลสำเร็จแก่ราชการ

ในการปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ เครื่องบินของ น.ต.ศานิต นวลมณี ถูกยิงถังน้ำมันทะลุไฟไหม้ นักบินถูกไฟลวก และถูกกระสุนที่เข่า ต้องกระโดดร่มชูชีพ ได้รับบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่กรรมเมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๓ ส่วนพลปืนหลัง คือ จ.อ.เฉลิม ดำสัมฤทธิ์ (ภายหลังได้รับการเลื่อนยศเป็น เรืออากาศโท) ถูกไฟลวกและตกลงพร้อมกับเครื่องบินถึงแก่กรรมทันที

ชื่อของ " น.ต.ศานิต นวลมณี " ได้รับการยกย่อง และนำมาตั้งชื่อฝูงบินว่า "ฝูงบินศานิต" ซึ่งฝูงบินนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี และเป็นฝูงบินแรกที่ได้รับประดับ "สายยงยศไหมสีเขียว"



ประวัติส่วนตัวของ น.ต.ศานิต นวลมณี

  • วันเดือนปีเกิด : ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑
  • สถานที่เกิด : ต.หมากแข้ง อ.เมือง จว.อุดรธานี
  • บิดา-มารดา : นายสีดอน และ นางบุญมี นวลมณี
  • การศึกษา: มัธยมศึกษาที่ โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล อุดรธานี และเตรียมอุดมที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ
  • ศิษย์การบินรุ่น : น.๗ - ๘๑ - ๑
  • เลขประจำตัว รร.การบิน : ๗๖
  • รับราชการ : พ.ศ.๒๔๘๑ เริ่มรับราชการในตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารอากาศ (เดิม รร.การบิน ทอ.สังกัด กรมเสนาธิการทหารอากาศ ) ยศเรืออากาศตรี
  • หมายเลขนักบินกองทัพอากาศ : ๖๒๑
  • "พ.ศ.๒๔๘๓" : เป็นผู้บังคับหมวดบิน ๑ กองบินน้อยผสม อุดรธานี
  • "๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๓" : ปฎิบัติการรบดีเด่น เลื่อนยศเป็น "เรืออากาศโท"
  • "๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๓" : ปฎิบัติการรบดีเด่น เลื่อนยศเป็น "เรืออากาศเอก"
  • "๑๗ ธันวาคม ๒๔๘๓" : ปฎิบัติการรบดีเด่น เลื่อนยศเป็น นาวาอากาศตรี และได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ ดุษฎีมาลา เข็มกล้าหาญ
  • "๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๓" : ถึงแก่กรรม รวมอายุ ๒๓ ปี 
 -------------------------------------------------
เรื่องราวประทับใจจากวีรกรรมของนาวาโท ศานิต นวลมณี ทำให้ผู้เขียนต่อยอดจินตนาการจนกลายมาเป็นนิยายเรื่อง ใต้ปีกปักษา ซึ่งกำลังจะออนแอร์ในเร็วๆ นี้ ถ้าหากว่านิยายเรื่องนี้จะมีคุณงามความดีอยู่บ้าง ผู้เขียนก็ขอยกคุณงามความดีทั้งหมดนั้นให้กับวีรบุรุษตัวจริงในหน้าประวัติศาสตร์ไทยของเราผู้นี้...นาวาอากาศโท ศานิต นวลมณี



แหล่งที่มาข้อมูล:
- วีรกรรมนาวาอากาศโท ศานิต นวลมณี
- กรณีพิพาทอินโดจีน - วีรกรรม น.ต. ศานิต นวลมณี
- กระทู้พันทิป - มีภาพหายากจากสงครามไทย-ฝรั่งเศส มาให้ชม

No comments:

Powered by Blogger.